เนื่องในวันท่องเที่ยวโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 27 กันยายนของทุก ปี Airbnb ได้จัดเสวนาในหัวข้อ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับ Airbnb: นอกเหนือจากเมืองใหญ่ โดยนายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน และกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยและประชาชนคนไทยมากกว่าสองล้านล้านบาท รัฐบาลและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายสำคัญที่จะยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศให้พัฒนาและเติบโต แต่การเติบโตนั้นจะต้องมิใช่การเติบโตในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความหลากหลาย นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้เกิดการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้ง่ายและทำให้เกิดการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชนได้อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านนางมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb กล่าวว่า จากแรงขับเคลื่อนของนักท่องเที่ยวที่ปรารถนาจะสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นชุมชนท้องถิ่นและการท่องเที่ยวอย่างจริงแท้นั้นมีมากขึ้น เราสังเกตเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและจากทั่วโลกเดินทางไปเยือนสถานที่ใหม่ๆ ที่ออกนอกเส้นทางเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ที่พักอันมีเอกลักษณ์และประสบการณ์ในชุมชนของ Airbnb จะช่วยทำให้จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งใหม่ อย่างบุรีรัมย์ ดึงดูดและรองรับผู้มาเยือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการเปิดตัวเดสทิเนชั่น มาร์เก็ตติ้ง แคมเปญของจ.บุรีรัมย์ โดยจัดทำวิดีโอสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวบุรีรัมย์ เพื่อถ่ายทอดผ่านมุมมองของชุมชนเจ้าของบ้านพัก Airbnb
Airbnb จะโปรโมทวิดีโอนี้บนแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเดินทางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไปยังจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในประเทศไทย นอกจากนี้ Airbnb ยังขยายการวางแผน เดสทิเนชั่น มาร์เก็ตติ้ง แคมเปญนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ๆ ในไทย เช่น อำเภอหนองแซงและอำเภอเสาไห้ของจังหวัดสระบุรี เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ Airbnb ได้ร่วมมือกับโครงการ B-Stay ผู้ให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ในจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจัดสร้างที่พักที่มีความยืดหยุ่นในการรองรับงานโมโตจีพี 2018 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่ง Airbnb ได้มีการอบรมการใช้งานแพลตฟอร์มและลิสต์โฮมสเตย์มากกว่า 65 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์บนแพลต์ฟอร์ม Airbnb ในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับงานโมโตจีพี 2019 ซึ่งเป็นงานสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ Airbnb เผยข้อมูลล่าสุด นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาบุรีรัมย์หันมาใช้บริการ Airbnb ในการจองที่พักเพิ่มมากขึ้น
ตั้งแต่ Airbnb ประกาศความร่วมมือกับโครงการ B-Stay ในปีที่แล้ว จำนวนบ้านพักของ Airbnb
ในบุรีรัมย์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 360% ปีต่อปี
บุรีรัมย์ติดอันดับที่ 7 ของจุดหมายปลายทางยอดฮิตของ Airbnb ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยอ้างอิงจากอัตราการเติบโตของยอดการจองที่พักในปีก่อน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้มียอดจองที่พักในบุรีรัมย์เติบโตสูงขึ้น 357% ปีต่อปี*
ในช่วงที่มีการจัดงานโมโตจีพีที่บุรีรัมย์ ชุมชนเจ้าของที่พัก Airbnb ในบุรีรัมย์จะมีโอกาสต้อนรับ
ผู้เข้าพักมากกว่า 430 คน ที่เดินทางมาจากกว่า 100 เมืองทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 96% ปีต่อปี**
โดยผู้เข้าพักราว 27% เดินทางมาจากในประเทศ และผู้เข้าพักชาวต่างชาติที่ติดอันดับมากที่สุด เดินทางมาจาก ออสเตรเลีย อินเดีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ขนาดของการจองที่พักอยู่เฉลี่ย 2.5 คน และมีระยะเวลาการเข้าพัก 3 คืน
ช่วงอายุของผู้เข้าพักที่มีจำนวนมากที่สุดคือ อายุระหว่าง 30-39 ปี ตามมาด้วยผู้เข้าพักในช่วงอายุ 40-49 ปี และเจ้าของที่พักเป็นผู้หญิงมีสัดส่วน 45% ของเจ้าของที่พักทั้งหมดในบุรีรัมย์
นายขรรค์ชัย อาราม ผู้บริหาร B-STAY กล่าวว่า ประชาชนชาวบุรีรัมย์โดยปกติดมีรายได้ต่อคนอยู่ที่ 80,000 บาทต่อปี แต่ในช่วงการแข่งขันกีฬา รายได้จะเพิ่มขึ้น 30-40 %
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า กล่าวว่า การล้มละลายของบริษัท โทมัส คุก ที่เปิดดำเนินการมานานถึง 178 ปีเพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยหันไปเสพข้อมูลจากแพลตฟอร์ม ดังนั้นคงต้องถามว่าเราพร้อมหรือยังในการจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มนั้นๆ เรามีเครื่องมือรองรับแค่ไหน ที่สำคัญต้องปรับความคิดของเราว่านักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย โดยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา เพื่อนำบริการของเราขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มนั้น
นอกจากนี้ยังพบว่าการท่องเที่ยวแบบได้สัมผัสของจริง อยู่กับธรรมชาติ ทดลองการใช้วิตแบบชุมชน เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุด ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และหาข้อมูลไม่ได้ทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นเราต้องสร้างข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นแล้วนำเสนอบนโลกอินเตอร์เน็ต
นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นการเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตขึ้นตลอด ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความกังวลว่า แหล่งท่องเที่ยวจะเติบโตไม่ทันกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรจะให้เกิดความสมดุล และทำให้การท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืน
การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ต้องเริ่มจากชุมชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่น ที่ต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติ และผลประโยชน์ ดังนั้นต้องให้ชุมชนเขาบริหารกันเอง โดยรัฐเข้าไปช่วยเติมเต็ม
นางสาวชมพู มฤศโชติ ผู้อำนวยการ กองสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงตลอด มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการใช้สื่อดิจิตอลในการค้นคว้าหาข้อมูล มีเทรนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องปรับตัว โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางเองมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ของ ททท.คือ ทำอย่างไรจะให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทยเป็นอันดับแรก ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว การทำกิจกรรม และช่วยทำให้นักท่องเที่ยวที่มาแล้วเกิดความประทับใจ และอยากกลับมาอีกครั้ง
ไทยยังมีชุมชนเล็กๆในเมืองใหญ่ที่รอนักท่องเที่ยวเข้าไป โดยแต่ละชุมชนก็มีของดีที่ไม่เหมือนใคร และมีความโดดเด่น โดย ททท.ทำหน้าที่สืบค้นและต่อยอด สร้างให้มีมูลค่า และเป็นรายได้ แล้วแบ่งปัน โดย ททท.ทำหน้าที่โปรโมทให้เป็นที่รู้จัก